วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้งาน HOSxP PCU ปีที่ 1 (ตอนที่ 2)

     วันนี้มาต่อครับประสบการณ์การใช้งาน HOSxP PCU ตอนที่ 2 เป็นเวลา 1 ปี ที่ได้ใช้โปรแกรมมา การใช้ HOSxP PCU ของ สอ.และ รพ.สต.ทั้งจังหวัดก็คล้ายกันครับ การบริหารจัดการระดับอำเภอเป็นการสนับสนุนในลักษณะที่ว่าเห็นชอบ และก็ให้ระดับผู้ปฏิบัติดำเนินการกันไป เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ผู้บริหารคิดว่าคงไม่ต้องลงในรายละเอียด ทำได้ก็ทำ ไม่ได้ก็ให้โทรปรึกษากันเอาเอง ใครรู้จักใครก็ถามแล้วแก้ไขกันเอาเอง.ฯลฯ

     สภาพปัญหาปกติที่เกิดขึ้นหลังจากอบรมการใช้ HOSxP PCU ไปแล้ว คือ ความเงียบ..ในหลายๆ พื้นที่ บางอำเภอมีการเร่งรัด ติดตามการใช้งานพี่ที่สาธารณสุขอำเภอบางท่านโทรศัพท์เข้ามาติดตามสอบถาม และประสานงานให้ผมโดยตรงให้ไปช่วยอบรมเพิ่มเติม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมาช่วยกันคิดว่าทำไมไม่ประสานกับทีมจังหวัด ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ศักยภาพของทีมพอหรือไม่ ขาดการทำงานเชิงรุกหรือเปล่า หรือติดกรอบอยู่เฉพาะการทำงานในเวลาราชการเท่านั้น ที่ทำให้ไม่สามารถสร้างความมั่นใจและให้การสนับสนุนกับทีมระดับอำเภอได้เต็มที่ บางอำเภอมีเพียงบาง รพ.สต.เท่าที่ที่โทรเข้ามาสอบถาม บางแห่งใช้งานแบบเดิมๆ ไม่ได้ปรับปรุงตารางอะไรเพิ่มเติมเลยหลังจากกลับมาจากการอบรม บางอำเภอยังไม่ยอมลงทุนเรื่อง hardware. ฯลฯ

     สภาพปัญหาแบบนี้ควรจะแก้ไขกันอย่างไรดีล่ะครับ.. จะบอกให้ท่านสาธารณสุขอำเภอแต่ละแห่งช่วยติดตาม ท่านก็คงบอกว่าได้ติดตาม สั่งการให้ทำ สนับสนุนให้ใช้แล้ว แต่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สะท้อนกลับมาว่าใช้แล้วมีปัญหาเยอะ และไม่ได้รับแก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาล่าช้า ฯลฯ ซึ่งกว่าปัญหาทั้งหมดจะมาคุยกันได้ก็มักจะมาจบกันด้วยคารมโวหารในห้องประชุมประจำเดือนของจังหวัด และเดินออกจากห้องประชุมด้วยความผิดหวัง..กันทุกฝ่าย

     ถ้าผู้บริหารไม่รู้ในรายละเอียดบ้าง..จะไปสั่งการถูกได้อย่างไรกัน ผมยังมองว่าจำเป็นครับที่สาธารณสุขอำเภอทุกท่านควรมีความรู้พื้นฐานในเรื่องการจัดการ การใช้งาน HOSxP PCU ไม่ใช่จะดูแลในเชิงบริหารอย่างเดียว..

     จุดอ่อนของเรา คือ การใช้เวลาในการเตรียมคนในการดูแลระดับอำเภอ ทีมพี่เลี้ยงในระดับจังหวัดไม่สามารถตอบคำถามในประเด็นปัญหาการใช้โปรแกรม ครับ..ดังนั้นต้องรีบปิดจุดอ่อนตรงนี้ด้วยการติดตามสอบถาม หรือลงไปดูสภาพปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลังจากการอบรม การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโปรแกรม การเตรียมทีมในการ support ระดับจังหวัด ว่าใครจะทำอะไร ใครดูเรื่องรายงาน ใครดูเรื่องการส่งข้อมูล ฯลฯ ถ้าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง สุดท้ายก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่า เบื่อหน่าย ไม่ประทับใจกับการใช้งาน สุดท้ายถึงขั้นปิดใจ..ไม่ยอมรับการเรียนรู้อะไรอีกเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น